นางวิไลรัตน์ ศิริโสภณศิลป์ รองผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร และนายเกรียงวิชญ์ เตชวิทยไวทิน ปลัดจังหวัดพิษณุโลก ให้เกียรติเดินทางไปเป็นประธานเปิดงานการสัมมนา เพื่อนำเสนอผลการศึกษาพร้อมรับฟังความคิดเห็นต่อร่างรายงานฉบับสมบูรณ์ ในการบริหารจัดการและกระจายสินค้าจังหวัดพิษณุโลก เพื่อนำเสนอผลสรุป ของโครงการ ในรูปแบบของ Logistics Hub ทั้งในเรื่องของผลตอบแทนทางเศรษฐกิจ ตลอดจนการบริหารจัดการพื้นที่พร้อมแผนดำเนินการในระยะถัดไป
นางวิไลรัตน์ กล่าวว่า การสัมมนาครั้งนี้จะมีการรายงานผลการศึกษา ที่เป็นฉบับสมบูรณ์ อีกทั้งยังเป็นการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของประชาชน รวมทั้งทุกภาคส่วนที่มีความเกี่ยวข้องต่อผลการศึกษาดังกล่าว อันเป็นการแสดงออกถึงการร่วมมือร่วมใจกัน เพื่อพัฒนาประเทศให้เกิดการเจริญรุ่งเรืองทั้งระหว่างภาครัฐและภาคประชาชน โดยจากผลการศึกษาปรากฏว่า จังหวัดพิษณุโลกมีความเหมาะสมอย่างยิ่ง ในการที่จะพัฒนาเป็น ” เขตอุตสาหกรรม Logistics อัน ผสมผสานกับ ” ศูนย์การขนส่งและLogistics ”
อย่างไรก็ตามโครงการดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างขั้นตอนการศึกษาหาความเหมาะสมในการจัดทำแผนการพัฒนา โดยสามารถแบ่ง การพัฒนาออกเป็นทั้งหมด 3 ระยะ คือระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2565 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่ในการรวบรวมและกระจายสินค้าทางถนน รวมทั้งการก่อสร้างพื้นที่ให้หน่วยงานเอกชนเช่า ต่อมาระยะที่ 2 ปี พ.ศ.2570 เริ่มเปิดพื้นที่เพื่อการขนส่งสินค้าทางราง ระยะสุดท้ายระยะที่ 3 ปี พ.ศ.2580 เริ่มเปิดให้บริการพื้นที่เขต Free Zone โดยมีการคาดการณ์กันว่าใช้งบประมาณรวมถึง 2,500 ล้านบาทด้วยกัน
การพัฒนาโครงสร้างและระบบ Logistics ในครั้งนี้จะกลายเป็นแห่งแรกของภาคเหนือตอนล่าง และเป็นพื้นที่เศรษฐกิจ ของลุ่มแม่น้ำโขงซึ่งมีการพัฒนาให้กลายเป็นศูนย์ Logistics แบบครบครันที่ได้มาตรฐานสากล ตลอดจนมีการวางเป้าหมายทางด้านยุทธศาสตร์ ด้านความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อการพัฒนาด้วย โดยจะช่วยให้เศรษฐกิจในภาพรวม เกิดการพัฒนาพร้อมขยายตัวมากขึ้นมากถึง 3,300 ล้านบาท จนก่อเกิดรายได้จากอัตราจ้างงานสูงถึง 1,400 ล้านบาท
นอกจากนี้ การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ยังได้ริเริ่มดำเนินโครงการลานประชารัฐ ภายในนิคมอุตสาหกรรมของจังหวัดสระแก้ว เพื่อเป็นการเปิดโอกาสให้ชุมชนมีช่องทางใหม่ๆ เพื่อใช้ในการจัดแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์ โดย กนอ.ได้ก่อสร้างลานประชารัฐบนพื้นที่ขนาด 3 ไร่ อันประกอบไปด้วย อาคารจำนวน 1 หลัง และอาคารจำหน่ายสินค้า จำนวน 4 หลัง เพื่อให้ชาวบ้านนำผลิตภัณฑ์สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ หรือ OTOP ที่มีมาตรฐานและคุณภาพ มาวางจำหน่าย เช่น กลุ่มผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม , สิ่งทอและเครื่องประดับตกแต่ง , ศิลปะประดิษฐ์และของที่ระลึก โดยในปัจจุบันพื้นที่ดังกล่าวมีการจับจองจนเต็มแล้ว